วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เครื่องดนตรีไทยประเภทตี

เครื่องตีที่ทําด้วยโลหะ
ฆ้อง ตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลมตรงกลางทำเป็นปุ่มนูน เพื่อใช้รองรับการตีให้เกิดเสียงเรียกว่า ปุ่มฆ้อง ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไป แล้วงองุ้มลงมาโดยรอบเรียกว่า "ฉัตร" ส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุ่มเรียกว่า "หลังฉัตร" หรือ " ชานฉัตร" ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า "ใบฉัตร" ที่ใบฉัตรนี้จะมีรูเจาะสำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งจะเจาะสองรู ถ้าแขวนตีทางนอนจะเจาะสี่รู ฆ้องใช้ในการบรรเลงได้สองลักษณะคือ ใช้ตีกำกับจังหวะ และใช้ตีดำเนินทำนอง ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะได้แก่ ฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่ ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกะแตและฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องกะแต ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลูกฆ้องมีขนาดเล็ก จำนวน ๑๑ ลูก
ฆ้องคู่ ใช้ตีกำกับจังหวะ ชุดหนึ่งมีสองสูก ลูกใหญ่ให้เสียงต่ำ ลูกเล็กให้เสียงสูง ไม้ตีทำด้วย แผ่นหนังวัว หรือหนังควายตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลางใส่ก้านไม้

ฆ้องมโหรี เป็นฆ้องวงที่ใช้บรรเลงในวงมโหรีโดยเฉพาะ มีอยู่สองขนาด คือฆ้องวงใหญ่มโหรีและฆ้องวงเล็กมโหรี ฆ้องวงใหญ่มโหรีเดิมมีลูกฆ้อง ๑๗ ลูก ต่อมานิยมใช้ ๑๘ ลูก

ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบเหมือนฆ้องไทย มีลูกฆ้อง ๑๕ ลูก ใช้บรรเลงใน วงปีพาทย์มอญ ตัวรางประดิษฐ์ตกแต่งงดงาม

ฆ้องระเบ็ง ใช้ตีประกอบการและแสดงระเบ็ง ชุดหนึ่งมีสามลูก มีขนาดและให้เสียงสูง-ต่ำ ต่างกัน มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามลักษณะว่า "ฆ้องราว" ฆ้องราง ใช้ตีดำเนินทำนอง ชุดหนึ่งมี ๗-๘ ลูก เสียงลูกที่ ๑ กับลูกที่ ๘ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ปัจจุบันไม่มีการใช้ในวงดนตรีไทย
ฆ้องวง ใช้ตีดำเนินทำนอง เสียงต่ำอยู่ทางซ้าย เสียงสูงอยู่ทางขวาของผู้ตี
ฆ้องวงใหญ่ มีลูกฆ้อง ๑๖ ลูก ลูกเสียงต่ำสุดเรียกว่า ลูกทวน ลูกเสียงสูงสุดเรียกว่า ลูกยอด ไม้ที่ใช้ตีมีสองอัน ผู้ตีถือไม้ตีมือละอัน
ฆ้องวงเล็ก มีลูกฆ้อง ๑๘ ลูก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่เก็บ สอด แทรก ฯลฯ

ฆ้องหุ่ย ใช้ตีกำกับจังหวะ เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในวงดนตรีไทย มีอีกชื่อว่า ฆ้องชัย อาจเป็นเพราะสมัยโบราณ ใช้ฆ้องชนิดนี้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีใน งานพิธี งานมงคลต่าง ๆ

ฆ้องเหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ ขนาดเล็กกว่า ฆ้องโหม่ง ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี

ฆ้องโหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากฆ้องหุ่ย ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี
ฉาบ เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่มีขนาดใหญ่กว่าและหล่อบางกว่า มีสองขนาด ขนาดใหญ่กว่าเรียกว่า ฉาบใหญ่ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ฉาบเล็ก การตีจะตีแบบประกบ และตีแบบเปิดให้เสียงต่างกัน


ฉิ่ง เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ หล่อหนา รูปร่างกลม เว้ากลาง ปากผาย คล้ายฝาขนมครกไม่มีจุก สำรับหนึ่งมีสองฝาเจาะรูตรงกลางที่เว้า สำหรับร้อยเชือกโยงฝาทั้งสอง เพื่อสะดวกในการถือตี ฉิ่งมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ประกอบวงปีพาทย์ ขนาดเล็กใช้กับวงเครื่องสายและมโหรี

กังสดาล เป็นระฆังวงเดือน หล่อจากสัมฤทธิ์ หรือทองเหลือง ด้านบนเจาะรูไว้แขวน ใช้เป็นเครื่องตีบอกสัญญาณ ของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ และใช้ประกอบ การบรรเลงดนตรีในบางโอกาส

มโหระทึก เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะทั้งลูก มโหระทึกมีมาตั้งแต่ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งตกประมาณ ๒๐๐๐ปีมาแล้ว มีพบในหลายประเทศในสุวรรณภูมิ ตัวกลองมีหน้ากลองแบนกว้าง บริเวณตรงกลางหน้ากลองนิยมทำเป็นรูปดาวและมีลวดลายอื่น ๆ ประกอบ ด้านข้างตัวกลางมักจะหลักลวดลายต่าง ๆ ฐานกลองเป็นทรงกระบอกกลวง ในการตีจะวางมโหระทึก ตั้งเอาหน้ากลองขึ้น ใช้ไม้ตีสองอัน ทำด้วยไม้รวกหรือไม้เนื้อแข็งเหลากลม ปลายที่ใช้ตี พันด้วยผ้าให้แน่นแล้วผูกเคี่ยนหรือถักด้วยเส้นด้าย ชาวไทยใช้มโหระทึกมาแต่โบราณ มีกล่าวถึงในสมัยสุโขทัย ใช้ตีในเทศกาล งานรื่นเริง สมัยอยุธยามีกำหนดให้ตีมโหระทึก ในงานพระราชพิธี สมัยรัตนโกสินทร์ ใช้ประโคมร่วมกับแตร สำหรับพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จออก ขุนนางในงานพระราชพิธีและรัฐพิธี ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะใน งานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวน พยุหยาตราทางชลมารค และในกระบวนอื่น ๆ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ เป็นการพิเศษแก่วัดสามวัด ให้มีการประโคมมโหระทึกของ พระภิกษุสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม








เครื่องตีที่ทําด้วยหนัง

กลอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี สำหรับใช้บอกสัญญาณ บอกจังหวะ และใช้ประกอบเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตัวกลองเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้ ข้างในเป็นโพรง หน้าขึงด้วยหนังมีทั้งหน้าเดียวและสองหน้า ที่เป็นหน้าเดียว ได้แก่ โทน รำมะนา กลองยาว ที่เป็นสองหน้า ได้แก่ กลองทัด ตะโพน เปิงมาง กลองแขก กลองมะลายู กลองชนะ บัณเฑาะว์ การขึ้นหนังมีทั้งตรึงด้วยหมุด และโยงเร่งด้วยเส้นหนัง หวายหรือลวด การตีกลอง อาจใช้ตีด้วยฝ่ามือ และตีด้วยไม้สำหรับตี
กลองทัด มีรูปทรงกระบอก กลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุดที่เรียกว่า "แส้" ซึ่งทำด้วยไม้ งาช้าง กระดูกสัตว์ หรือโลหะ หน้ากลองด้านหนึ่งติดข้าวตะโพน แล้วตีอีกด้านหนึ่ง ใช้ไม้ตีสองอัน สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ตัวผู้อยู่ทางขวา และตัวเมียอยู่ทางซ้ายของผู้ตี กลองทัดน่าจะเป็นกลองของไทยมาแต่โบราณ ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงปีพาทย์มาจนถึงปัจจุบัน

กลองตะโพน ใช้ตะโพนสองลูก เสียงสูงต่ำต่างกัน ถอดเท้าออก แล้วนำมาตั้งเอาหน้าเท่งขึ้นตีแบบกลองทัด ใช้ไม้นวมที่ใช้ตีระนาดเป็นไม้ตี

กลองชาตรี มีรูปร่างลักษณะและการตีเช่นเดียวกับกลองทัด แต่ขนาดเล็กกว่ากลองทัดประมาณครึ่งหนึ่ง ขึ้นหนังสองหน้า ใช้บรรเลงร่วมในวงปีพาทย์ในการแสดงละครชาตรีที่เรียกว่า "ปีพาทย์ชาตรี" ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี

กลองต๊อก เป็นกลองจีนชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก หุ่นกลองหนา ขึ้นหนังสองหน้า หน้าทั้งสองมีขนาดเท่ากัน ตีหน้าเดียวโดยใช้ไม้ขนาดเล็ก

กลองแขก มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าด้านหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้ารุ่ย" หน้าด้านหนึ่งเล็กเรียกว่า "หน้าต่าน" หนังหน้ากลอง ทำด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ ใช้เส้นหวายฝ่าชีกเป็นสายโยงเร่งให้ตึงด้วยรัดอก สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำ เรียกว่า "ตัวเมีย" การตีใช้ฝ่ามือทั้งสอง ตีทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กลองชะวา"

กลองชนะ รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่สั้นกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็ก ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ หรือหวาย ทางด้านหน้าใหญ่ เดิมกลองชนะน่าจะใช้ในกองทัพ หรือในการสงคราม ต่อมาใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ พระศพ และศพ ตามเกียรติยศของงาน จำนวนที่ใช้บรรเลง มีตั้งแต่ ๑ คู่ ขึ้นไป

กลองมลายู มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาไปตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ สำรับหนึ่งมีสีลูก ต่อมาลดเหลือสองลูก ใช้บรรเลงคู่ อย่างกลองแขกลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ใช้บรรเลงในวงบัวลอยในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปีพาทย์นางหงส์

กลองสองหน้า ลักษณะคล้ายเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า ตีด้วยมือขวา ใช้ใบเดียวตีกำกับจังหวะในวงปีพาทย์ที่บรรเลงในการขับเสภา

กลองยาว หุ่นกลองทำด้วยไม้ ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายเรียวแล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพงมีหลายขนาด ขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลางนิยมตบแต่งให้สวยงามด้วยผ้าสี หรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยมาปกด้วยกลอง มีสายสะพายสำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้ตีด้วยฝ่ามือ แต่การเล่นโลดโผน อาจใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายตีก็มี กลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า นิยมเล่นในงานพิธีขบวนแห่ กลองชนิดนี้เรียกชื่อตามเสียงที่ตีได้อีกชื่อหนึ่งว่า "กลองเถิดเทิง"

กลองโมงครุ่ม มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองทัด แต่ใหญ่กว่า ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุด ตีหน้าเดียว โดยใช้ไม้ตี ใช้ตีในการเล่นสมัยโบราณที่เรียกว่า "โมงครุ่ม" หรือ "โหม่งครุ่ม" ซึ่งมักตีฆ้องโหม่งประกอบด้วย

ตะโพน เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังสองหน้า ตรงกลางป่องและสอบไปทางหน้าทั้งสอง หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ปกติอยู่ด้านขวามือ อีกหน้าหนึ่งเล็ก เรียกว่า "หน้ามัด" ใช้สายหนังเรียกว่า "หนังเรียด" โยงเร่งเสียงระหว่างหน้าทั้งสอง ตรงรอบ ขอบหนังขึ้นหน้าทั้งสองข้าง ถักด้วยหนังตีเกลียวเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" สำหรับใช้ร้อยหนังเรียด โยงไปโดยรอบจนหุ้มไม้หุ่นไว้หมด ตอนกลางหุ่นใช้หนังเรียดพันโดยรอบเรียกว่า "รัดอก" หัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้าที่ทำด้วยไม้ ใช้ฝ่ามือซ้าย-ขวา ตี ทั้สองหน้า ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปีพาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ ผู้ที่นับถือพระประคนธรรพ ว่าเป็นครูใหญ่ทางดนตรี ได้ถือเอาตะโพนเป็นเครื่องแทนพระประคนธรรพในพิธีไหว้ครู และถือว่าตะโพนเป็นเครื่องควบคุมจังหวะที่สำคัญที่สุด

ตะโพนมอญ คล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า มีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่เรียกว่า "เมิกโนด" หน้าเล็กเรียกว่า "เมิกโด้ด" เป็นภาษามอญ ตะโพนมอญใช้บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่าง ๆ

โทน เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง เดิมเรียกว่า ทับ หุ่นทำด้วยดินเผารูปร่างคล้ายกรวย ปลายบานออกเป็นดอกลำโพง ขึงด้วยหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังคอ ตีด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งคอยปิด-เปิดปากลำโพง เพื่อช่วยให้เป็นเสียงต่าง ๆกัน ใช้ตีเป็นจังหวะ กำกับทำนองเพลงมาแต่โบราณ นิยมบรรเลงในวงเครื่องสาย ไม่นิยมบรรเลงในวงปีพาทย์

รำมะนา เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลอง ยานผายออก หุ่นกลองนั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง หรือชามอ่าง เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของมลายู ที่เรียกว่า เรบานา รำมะนามีสองชนิด คือรำมะนาสำหรับวงมโหรี และรำมะนาสำหรับวงลำตัด รำมะนาสำหรับวงมโหรี มีขนาดเล็ก หุ่นกลองสูง หนังที่ขึ้น ตรึงด้วยหมุดโดยรอบ มีเชือกที่เรียกว่า "สนับ" สำหรับใช้หนุนข้างใน โดยรอบหน้ากลาง เมื่อหน้ากลองหย่อน เพื่อช่วยให้เสียงสูง ใช้มือตี บรรเลงในวงมโหรีและวงเครื่องสายคู่กับโทน รำมะนาสำหรับวงลำตัด มีขนาดใหญ่ ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก ซึ่งรัดขอบล่างของตัวกลอง และใช้ลิ่มตอกเร่งเสียง รำมะนาชนิดนี้เดิมใช้ในการร้องเพลงบันตน เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากชวาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต่อมาได้ใช้ในการเล่นลำตัดและลิเก

บัณเฑาะว์ เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็ก ไทยคงได้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย ตัวกลองทำด้วยไม้ขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด มีสายโยงเร่งเสียงใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดที่ตรงสายรัดอก มีหลักยาวอันหนึ่งรูปเหมือนหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ทำด้วยไม้หรืองาที่ปลายหลักมีเชือกผูก ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งผูกลูกตุ้ม ในการบรรเลงใช้มือไกวบัณเฑาะว์ คือพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกเหวี่ยงตัวไปกระทบที่หนังหน้ากลองทั้งสองด้าน บางครั้งใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว บางครั้งใช้สองลูก ไกวพร้อมกันทั้งสองมือ มือละลูก เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบขับไม้ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภช พระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก และช้างสำคัญ เป็นต้น

เปิงมาง เป็นกลองใช้ตีขัดจังหวะหยอกล้อกับตะโพน หรือกลองทัด เปิงมางเป็นภาษามอญ เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ มีรูปร่างยาวเหมือนกระบอก ตรงกลางป่องเล็กน้อย หุ่นกลองทำด้วยไม้ ขึ้นหนังสองหน้า สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนังไส้ละมานเรียงถี่จนคลุมหุ่นไว้หมด มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา หรือตีประโคม ประจำพระบรมศพ พระศพ และศพ คนตีเปิงมางนำกลองชนะเรียกว่า "จ่ากลอง" คู่กับคนเป่าปี่ เรียกว่า "จ่าปี่"

เปิงมางคอก ใช้ในวงปีพาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป เทียบเสียงสูงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวรอบตัวคนตี คอกที่ใช้แขวนเปิงมางจะมีรูปโค้งเป็นวง การบรรเลง ใช้ตีขัดสอดประสานกันตะโพนมอญ

ไม่มีความคิดเห็น: